วันศุกร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2553

พัฒนาการชาติไทยสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

พัฒนาการชาติไทยสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

พัฒนาการด้านการเมืองการปกครอง

การปกครองสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น (พ.ศ.๒๓๒๕-๒๔๓๕)
สภาพทางการเมืองในช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ยังคงรูปแบบของระบบประชาธิปไตยอันเป็นระบบการปกครองที่สืบทอดมาช้านาน การเปลี่ยนแปลงภายในตัวระบบอยู่ที่การปรับบทบาทของสถาบันกษัตริย์ ซึ่งเป็นสถาบันสูงสุดที่ทำหน้าที่ปกครองประเทศ รูปแบบของสถาบ้นกษัตริย์สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น คลายความเป็นเทวราชาลงเป็นอย่างมาก ขณะเดียวกันก็กลับเน้นคติและรูปแบบของธรรมราชาขึ้นแทนที่ อย่างไรก็ตาม อำนาจอันล้นพ้นของพระมหากษัตริย์ก็มีอยู่แต่ในทางทฤษฎี เพราะในทางปฏิบัติ พระราชอำนาจของพระองค์กลับถูกจำกัดลงด้วยคติธรรมในการปกครอง ซึ่งอิงหลักธรรมของพุทธศาสนา คือ ทศพิธราชธรรม กับอีกประการหนึ่ง คือ การถูกแบ่งพระราชอำนาจตามการจัดระเบียบควบคุมในระบบไพร่ ซึ่งถือกันว่า พระมหากษัตริย์คือมูลนายสูงสุดที่อยู่เหนือมูลนายทั้งปวง แต่ในทางปฏิบัติพระองค์ก็มิอาจจะควบคุมดูแลไพร่พลเป็นจำนวนมากได้ทั่วถึง จึงต้องแบ่งพระราชอำนาจในการบังคับบัญชากำลังคนให้กับมูลนายในระดับรองๆ ลงมา ในลักษณะเช่นนั้น มูลนายที่ได้รับมอบหมายให้กำกับไพร่และบริหารราชการแผ่นดินต่างพระเนตรพระ กรรณ จึงเป็นกลุ่มอำนาจมีอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งกลุ่มใดจะมีอำนาจเหนือกลุ่มใดก็แล้วแต่สภาพแวดล้อมของสังคมในขณะนั้น เป็นสำคัญ
การปกครองและการบริหารประเทศในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น กล่าวได้ว่า รูปแบบของการปกครอง ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ยังคงยึดตามแบบฉบับที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทรงวางระเบียบไว้ จะมีการเปลี่ยนแปลงก็เพียงเล็กน้อย เช่น ในสมัยรัชกาลที่ ๑ โปรดฯ ให้คืนเขตการปกครองในหัวเมืองภาคใต้กลับให้สมุหกลาโหมตามเดิม ส่วนสมุหนายกให้ปกครองหัวเมืองทางเหนือ ส่วนพระคลังดูแลหัวเมืองชายทะเล ในด้านระบบการบริหาร ก็ยังคงมีอัครมหาเสนาบดี ๒ ฝ่าย คือ สมุหนายกเป็นหัวหน้าฝ่ายพลเรือน ดูแลบังคับบัญชาหัวเมืองฝ่ายเหนือ และสมุหกลาโหม เป็นหัวหน้าราชการฝ่ายทหาร ดูแลบังคับบัญชาหัวเมืองฝ่ายใต้ ตำแหน่งรองลงมาคือ เสนาบดีจตุสดมภ์ แบ่งตามชื่อกรมที่มีอยู่คือ เวียง วัง คลังและ นา ในบรรดาเสนาทั้ง ๔ กรมนี้ เสนาบดีกรมคลังจะมีบทบาทและภาระหน้าที่มากที่สุด คือนอกจากจะบริหารการคลังของประเทศแล้ว ยังมีหน้าที่ดูแลบังคับบัญชาหัวเมืองชายทะเลตะวันออก เสนาบดีทั้งหลายมีอำนาจสั่งการภายในเขตความรับผิดชอบของตน รูปแบบที่ถือปฏิบัติก็คือ ส่งคำสั่งและรับรายงานจากเมืองในสังกัดของตน ถ้ามีเรื่องร้ายที่เกิดขึ้น เสนาบดีเจ้าสังกัดจะเป็นแม่ทัพออกไปจัดการเรื่องต่างๆ ให้เรียบร้อย มีศาลของตัวเองและสิทธิในการเก็บภาษีอากรในดินแดนสังกัดของตน รวมทั้งดูแลการลักเลขทะเบียนกำลังคนในสังกัดด้วย
การบริหารในระดับต่ำลงมา อาศัยรูปแบบการปกครองคนในระบบไพร่ คือ แบ่งฝ่ายงานออกเป็นกรมกองต่างๆ แต่ละกรมกอง มีอำนาจหน้าที่ในการจัดการควบคุมกำลังคนในสังกัดของตน โครงสร้างของแต่ละกรม ประกอบด้วยขุนนางข้าราชการอย่างน้อย ๓ ตำแหน่ง คือ เจ้ากรม ปลัดกรม และสมุห์บัญชี กรมมีทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็ก กรมใหญ่มักเป็นกรมสำคัญ เจ้ากรมมีบรรดาศักดิ์ถึงขนาดเจ้าพระยาหรือพระยา
กรมของเจ้านายที่มีความสำคัญมากที่สุด ได้แก่ กรมของพระมหาอุปราช ซึ่งเรียกกันว่า กรมพระราชวังบวรสถานมงคล กรมของพระองค์มีไพร่พลขึ้นสังกัดมาก กรมของเจ้านายมิได้ทำหน้าที่บริหารราชการโดยตรง ถือเป็นกรมที่ควบคุมกำลังคนเป็นสำคัญ เพราะฉะนั้น การแต่งตั้งเจ้านายขึ้นทรงกรมจึงเป็นการให้ทั้งความสำคัญ เกียรติยศ และความมั่นคงเพราะไพร่พลในครอบครองเป็นเครื่องหมายแสดงถึงอำนาจและความ มั่งคั่งของมูลนายผู้เป็นเจ้าของการบริหารราชการส่วนกลาง มีพระมหากษัตริย์เป็นมูลนายระดับสูงสุด เจ้านายกับขุนนางข้าราชการผู้บังคับบัญชากรมต่างๆ ทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน ฐานะเป็นมูลนายในระดับสูง ช่วยบริหารราชการ โดยมีนายหมวด นายกอง เป็นมูลนายระดับล่างอยู่ใต้บังคับบัญชา และทำหน้าที่ควบคุมไพร่อีกต่อหนึ่ง การสั่งราชการจะผ่านลำดับชั้นของมูลนายลงมาจนถึงไพร่
สำหรับการปกครองในส่วนภูมิภาคหรือการปกครองหัวเมือง ขึ้นอยู่กับอัครมหาเสนาบดี ๒ ท่าน และเสนาบดีคลัง ดังได้กล่าวไว้ข้างต้น หัวเมืองแบ่งออกเป็นสองชั้นใหญ่ๆ ได้แก่ หัวเมืองชั้นในและหัวเมืองชั้นนอก การแบ่งหัวเมืองยังมีอีกวิธีหนึ่ง โดยแบ่งออกเป็น ๔ ขั้น คือ เอก โท ตรี จัตวา ตามความสำคัญทางยุทธศาสตร์และราษฎร
หัวเมืองชั้นใน เป็นหน่วยปกครองที่อยู่ใกล้เมืองหลวง มีเจ้าเมืองหรือผู้รั้ง ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าปกครองดูแล
หัวเมืองชั้นนอก มีทั้งหัวเมืองใหญ่ หัวเมืองรอง และหัวเมืองชายแดน หัวเมืองเหล่านี้ อยู่ใต้การปกครองของเจ้าเมือง และข้าราชการในเมืองนั้นๆ
นโยบายที่ใช้ในการปกครองหัวเมืองในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีการเปลี่ยนแปลงเพื่อความกระชับยิ่งขึ้น กล่าวคือ รัชกาลที่ ๑ ได้ทรงออกพระราชกำหนดตัดทอนอำนาจเจ้าเมืองในการแต่งตั้งข้าราชการที่สำคัญๆ ทุกตำแหน่ง โดยโอนอำนาจการแต่งตั้งจากกรมเมืองในเมืองหลวง นับเป็นการขยายอำนาจของส่วนกลาง โดยอาศัยการสร้างความจงรักภักดีให้เกิดขึ้นกับเจ้านายทั้งสองฝ่าย คือ ทั้งเจ้าเมือง และข้าราชการที่แต่งตั้งตนในส่วนกลาง ตำแหน่งต่างๆ เหล่านี้ต้องรายงานตัวต่อผู้ตั้งทุกปี ทั้งนี้เพื่อผลในการควบคุมไพร่พลและเกณฑ์ไพร่มาใช้ เพราะฉะนั้น มูลนายในเมืองหลวงจึงได้ควบคุมสัสดีต่างจังหวัดอย่างใกล้ชิด
ส่วนการปกครองในประเทศราช เช่น ลาว เขมร มลายู นั้น ไทยใช้วิธีปกครองโดยทางอ้อม ส่วนใหญ่จะปลูกฝังความนิยมไทยลงในความรู้สึกของเจ้านายเมืองขึ้น โดยการนำเจ้านายจากประเทศราชมาอบรมเลี้ยงดูในฐานะพระราชบุตรบุญธรรมของพระ มหากษัตริย์ในราชสำนักไทยหรือสนับสนุนให้มีการแต่งงานกันระหว่างเจ้านายทั้ง สองฝ่าย และภายหลังก็ส่งเจ้านายพระองค์นั้นไปปกครองเมืองประเทศราช ด้วยวิธีนี้ จึงทำให้เกิดความรู้สึกผูกพันกันขึ้นระหว่างกษัตริย์ไทยกับเจ้านายเมืองขึ้น การปกครอง หรือการขยายอำนาจอิทธิพลในอาณาจักรต่างๆ เหล่านี้ ฝ่ายไทยและประเทศราชไม่มีการทำสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษร แต่ขึ้นกับอำนาจความมั่นคงของราชอาณาจักรไทย เพราะฉะนั้น ในช่วงใดที่ประเทศอ่อนแอ เมืองขึ้นก็อาจแข็งเมืองหรือหันไปหาแหล่งอำนาจใหม่ เพราะฉะนั้น เมื่ออำนาจตะวันออกแผ่อิทธิพลเข้ามาในดินแดนเอเซียอาคเนย์ ปัญหาเรื่องอิทธิพลในเขตแดนต่างๆ จึงเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องเวลาทำความตกลงกัน
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ได้ทรงปฏิรูปการปกครองแผ่นดินอย่างขนานใหญ่ ควบคู่ไปกับการปฏิรูปเศรษฐกิจและสังคม ทั้งนี้ก็เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป การปฏิรูปเศรษฐกิจ ก็ได้แก่ การปรับปรุงระบบบริหารงานคลังและภาษีอากร ส่วนการปฏิรูปสังคมก็ได้แก่ การเลิกทาส การปฏิรูปการศึกษา รวมทั้งการปรับปรุงการสื่อสาร และการคมนาคม เป็นต้น
สำหรับมูลเหตุสำคัญที่ผลักดันให้มีการปฏิรูปการปกครอง มีอยู่ ๒ ประการ คือ
๑.มูลเหตุภายใน ทรง พิจารณาเห็นว่าการปกครองแบบเดิมไม่เหมาะสมกับสภาพทางการปกครองและทางสังคม ที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น ประเทศไทยมีประชากรเพิ่มขึ้น การคมนมคมและการติดต่อสื่อสารเริ่มมีความทันสมัยมากขึ้น การปกครองแบบเดิมจะมีผลทำให้ประเทศชาติขาดเอกภาพในการปกครอง ขาดประสิทธิภาพในการบริหารราชการแผ่นดินและพัฒนาได้ยาก
๒.มูลเหตุภายนอก ทรง พิจารณาเห็นว่า หากไม่ทรงปฏิรูปการปกครองแผ่นดินย่อมจะเป็นอันตรายต่อเอกราชของชาติ เพราะขณะนั้น จักวรรดินิยมตะวันตก ได้เข้ามาแสวงหาอาณานิคมในแถบเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนั้น แต่เดิมเราต้องยินยอมให้ประเทศตะวันตกหลายประเทศมีสิทธิภาพนอกอาณาเขตคือ สามารถตั้งศาลกงสุลขึ้นมาพิจารณาความคนในบังคับของตนได้ โดยไม่ต้องอยู่ใต้การบังคับของศาลไทย เพราะอ้างว่า ศาลไทยล้าสมัย


 พัฒนาการด้านเศรษฐกิจ
สภาพทางเศรษฐกิจสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นยังคงยึดแบบแผนที่ปฏิบัติมา ตั้งแต่สมัยอยุธยาและสมัยกรุงธนบุรีเป็นหลัก ซึ่งพอจะประมวลองค์ประกอบทางเศรษฐกิจที่สำคัญได้ 3 ประการคือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการค้า ที่มาของรายได้แผ่นดินและรายได้ประชาชาติ ระบบเงินตรา
1. หน่วยงานที่เกี่ยวกับการค้าและเศรษฐกิจ
1.1 พระคลังสินค้า เป็นหน่วยงานที่สำคัญที่สุดที่เกี่ยวกับการค้าขาย ทำหน้าที่ควบคุมสินค้าขาเข้าและขาออก ตลอดจนการเลือกซื้อสินค้าที่ทางราชการต้องการ หรือสินค้าผูกขาด (สินค้าที่ทางราชการต้องการและคิดว่ามีอันตรายหากพ่อค้าจะทำการซื้อขายกัน โดยตรง) ได้แก่ อาวุธ กระสุนปืน และควบคุมกำหนดสินค้าต้องห้าม (คือสินค้าที่หายากและมีราคาแพง ราษฎรต้องนำมาขายให้แก่ทางราชการ) ได้แก่ งาช้าง รังนก ฝาง กฤษณา พระคลังสินค้าเป็นหน่วยงานการค้าแบบผูกขาด จึงได้ผลกำไรมาก แต่เมื่อไทยมีการค้าขายกับต่างชาติ โดยเฉพาะชาวตะวันตก พ่อค้าเหล่านั้นไม่ได้รับความสะดวกภายหลังหน่วยงานนี้ถูกยกเลิกไปภายหลังการ ทำสนธิสัญญาเบาว์ริง
1.2 กรมท่า เป็นกรมที่ทำหน้าที่ติดต่อกับพ่อค้าต่างชาติ เพราะกรมนี้มีหน้าที่ปกครองหัวเมืองชายทะเล จึงเป็นกรมที่กว้างขวางและคุ้นเคยกับชาวต่างชาติ ปัจจุบันกรมนี้คือกระทรวงการต่างประเทศ
1.3 เจ้าภาษีนายอากร ในสมัยรัชกาลที่ 3 ได้เปลี่ยนแปลงวิธีการจัดเก็บภาษีใหม่ คือรัฐบาลจะเรียกเก็บภาษีอากรเฉพาะที่สำคัญๆ เท่านั้น ส่วนที่เหลือก็จะประมูลให้เอกชนรับเหมาผูกขาดในการดำเนินการเรียกเก็บจาก ราษฎร ผู้ที่ประมูลได้เรียกว่า "เจ้าภาษีหรือนายอากร" ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นชาวจีนเกือบทั้งหมดตามหัวเมือง ราษฎรจะเรียกว่า กรมการจีน
ระบบเจ้าเจ้าภาษีนายอากรนี้มีทั้งผลดีและผลเสียต่อชาติดังนี้
ผลดี ช่วยประหยัดในการลงทุนดำเนินการ ทำให้ท้องพระคลังมีจำนวนภาษีที่แน่นอนไม่ก่อให้เกิดปัญหาในการเรียกเก็บ
ผลเสีย เจ้าภาษีนายอากรบางคนคิดหากำไรในทางมิชอบ มีการรั่วไหลมักใช้อำนาจข่มขู่ราษฎรเรียกเก็บเงินตามพิกัด
2. ที่มาของรายได้แผ่นดินและรายได้ประชาชาติ
2.1 การเกษตร มีความสำคัญต่อความเป็นอยู่ของชาวไทยตลอดเวลา มีกรมนารับผิดชอบ รายได้ของแผ่นดินส่วนใหญ่รับจากภาษีอากรด้านการเกษตร เช่น อากรค่านา อากรสมพัตสร (เก็บจากไม้ล้มลุกแต่ไม่ใช่ข้าว) และมีการเดินสวน เดินนา
2.2 การค้าขาย การค้าจะทำโดยพระคลังสินค้าและขุนนางชั้นผู้ใหญ่ สินค้าที่มีการซื้อขายระหว่างพระคลังกับพ่อค้ามี 2 ประเภทคือ สินค้าผูกขาดกับสินค้าต้องห้าม และได้มีการส่งเรือสำเภาไปค้าขายกับต่างประเทศ ส่วนใหญ่เป็นของทางราชการ เช่นค้าขายกับจีน อินเดียและพวกอาหรับ ในสมัยรัชกาลที่ 2 การค้ากับต่างประเทศขยายตัวมากขึ้น เพราะพระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ (รัชกาลที่ 3 ต่อมา) ทรงเป็นหัวแรงสำคัญจนได้รับสมญาว่า "เจ้าสัว" และมีการค้าขายกับทางตะวันตก เช่น โปรตุเกส อังกฤษ อเมริกา ฮอลันดา สมัยรัชกาลที่ 3 การค้าขายสะดวกรวดเร็ว ซึ่งเป็นผลจากการทำสนธิสัญญาเบอร์นีกับอังกฤษ
2.3 ภาษีอากร ภาษีอากรที่เรียกเก็บ มี 4 ประเภทคือ
- จังกอบ คือ ค่าผ่านด่านที่เก็บจากเรือ เกวียน หรือเครื่องบรรทุกอื่นที่ผ่านด่าน
- อากร คือ ภาษีที่เก็บจากราษฎรซึ่งประกอบอาชีพที่มิใช่การค้า ซึ่งปกติจะเรียกอากรตามอาชีพที่ทำ เช่น อากรค่านา อากรสุรา
- ฤชา คือ ค่าธรรมเนียมที่เก็บจากค่าบริการที่ทางราชการทำให้แก่ราษฎร เช่น ออกโฉนด ค่าธรรมเนียมศาล
- ส่วย คือ เงินหรือสิ่งของที่ไพร่หลวงผู้ที่ไม่ต้องเข้าเวรส่งมอบแทนการเข้าประจำการ
3. ระบบเงินตรา
- เงินพดด้วง (รูปสัณฐานกลมเป็นก้อนแต่ตีปลาย 2 ข้างงอเข้าหากัน)
- เงินปลีกย่อย ใช้เบี้ยและหอยเหมือนสุโขทัยและอยุธยา

พัฒนาการด้านสังคม

สภาพสังคมไทยในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นส่วนใหญ่มีลักษณะโครงสร้างไม่แตกต่างจากสมัยอยุธยาและธนบุรี
องค์ประกอบของสังคมไทยประกอบด้วยสถาบันต่างๆ ได้แก่ สถาบันพระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ ขุนนาง ข้าราชการ ไพร่ และทาส
1. พระมหากษัตริย์

 ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นมีลักษณะเป็นทั้งเทวราชาและธรรมราชา
พระมหากษัตริย์ในฐานะองค์สมมติเทพ พระมหากษัตริย์ทรงดำรงฐานะเป็นสมมติเทพตามติของศาสนาพราหมณ์ ขนบธรรมเนียมประเพณีเกี่ยวกับองค์พระมหากษัตริย์สะท้อนให้เห็นถึงความเป็น สมมติเทพ เช่น การสร้างที่ประทับ พระที่นั่งพระราชวัง การประกอบพิธีต่างๆ การใช้คำราชาศัพท์ เป็นต้น พระมหากษัตริย์ในฐานะธรรมราชา ตามคติธรรมราชานั้นถือว่า พระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งทศพิธราชธรรม 10 ประการ และจักรวรรดิวัตร 12 ประการ อย่างไรก็ตาม โดยขัตติยราชประเพณีแล้วพระมหากษัตริย์ทรงดำรงฐานะประดุจดังสมมติเทพ โดยคติความเชื่อ แต่ในทางปฏิบัติ พระองค์ทรงเป็นธรรมราชา ทำให้ฐานะของพระมหากษัตริย์ในยุครัตนโกสินทร์ตอนต้นมีลักษณะของความเป็นผู้ นำทางการเมืองที่เหมือนคนธรรมดามากขึ้น แต่พระองค์ก็ยังทรงมีพระราชอำนาจสูงสุดเป็นเจ้าชีวิตของปวงชน เป็นพระเจ้าแผ่นดิน เป็นจอมทัพ เป็นต้น และพระบรมราชโองการของพระองค์ ผู้ใดจะฝ่าฝืนไม่ได้ ถ้าผู้ใดฝ่าฝืนต้องถูกลงโทษอย่างหนัก
2. พระบรมวงศานุวงศ์สกุลยศและอิสริยยศของพระบรมวงศานุวงศ์ บรรดาพระบรมวงศานุวงศ์ทั้งหลายส่วนใหญ่ก็อยู่ในฐานะอันสูงส่ง ทั้งนี้เพราะเป็นพระญาติวงศ์ของพระมหากษัตริย์ ตำแหน่งของพระบรมวงศานุวงศ์แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ สกุลยศกับอิสริยศ ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น สกุลยศมีอยู่ 3 ตำแหน่ง คือ เจ้าฟ้า พระองค์เจ้า และหม่อมเจ้า ส่วน อิสรยศ คือ พระยศที่พระมหากษัตริย์ทรงโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนขึ้น อิสริยยศที่สำคัญที่สุดและสูงที่สุด ได้แก่ พระมหาอุปราช นอกจากนี้การได้รับตำแหน่งทรงกรมก็คือเป็นอิสริยยศด้วยเหมือนกัน ได้แก่ กรมหมื่น กรมขุน กรมหลวง กรมพระ กรมสมเด็จ การถือศักดินาของพระบรมวงศานุวงศ์ แตกต่างกันไปตามลำดับ ถ้าเป็นเจ้าฟ้าจะมีศักดินาสูงสุด หม่อมราชวงศ์จะมีศักดินาต่ำสุด แต่ถ้าทรงกรมก็มีศักดินาสูงกว่าเจ้านายในระดับเดียวกัน แต่มิได้ทรงกรม เช่น เจ้าฟ้าที่เป็นพระเชษฐาหรือพระอนุชาของพระมหากษัตริย์ถ้าไม่ได้ทรงกรมจะถือ ศักดินา 20,000 ไร่ ถ้าทรงกรมจะถือศักดินาถึง 50,000 ไร่ตามลำดับ สิทธิตามกฏหมายของพระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งมีสิทธิอยู่ 2 ประการ คือ จะพิจารณาคดีของพระบรมวงศานุวงศ์ในศาลใดๆ ไม่ได้นอกจากศาลของกรมวัง และ จะนำพระบรมวงศานุวงศ์ไปขายเป็นทาสไม่ได้ เพราะเจ้าหน้าที่จะไม่ยอมให้กระทำสัญญาซื้อขายเช่นนั้นได้อย่างถูกต้องตาม กฏหมาย
3. ขุนนาง
คือ บุคคลที่รับราชการแผ่นดิน มีศักดินา ยศ ราชทินนาม และตำแหน่ง เป็นเครื่องชี้บอกถึงอำนาจและเกียรติยศ ขุนนางเปรียบเหมือนข้าราชการของแผ่นดิน แต่ข้าราชการแผ่นดินบางคนจะไม่ได้มีฐานะเป็นขุนนางก็ได้ เพราะการเป็นขุนนางต้องขึ้นอยู่กับศักดินาของตนด้วย ผู้มีศักดินา 400 ไร่ขึ้นไปถึงได้เป็นขุนนาง ยกเว้นพวกมหาดเล็กเพราะถือว่าพวกนี้เป็นขุนนางอยู่แล้ว
การลำดับยศของขุนนาง ยศของขุนนางมี 7 ลำดับ จากสูงสุดไปต่ำสุดดังนี้ สมเด็จเจ้าพระยา เจ้าพระยา พระ หลวง ขุน หมื่น และ พัน ศักดินาของสมเด็จเจ้าพระยาอยู่ในระดับ 30,000 ไร่ นับว่าสูงสุดในบรรดาขุนนางทั้งหลาย ส่วนพันถือศักดินา 100-400 ไร่ หมื่นถือศักดินา 200-800 ไร่ ขุนถือศักดินา 200-1,000 ไร่ สำหรับขุนนางที่มียศเป็นหลวงขึ้นไป มีศักดินาไม่ต่ำกว่า 800 ไร่ขึ้นไป แสดงว่าผู้เป็นพัน หมื่น ขุนอาจมีสิทธิไม่ได้เป็นขุนนางก็ได้ ถ้าศักดินาของตนเองไม่ถึง 400 ไร่ และอาจมีสิทธิเป็นขุนนางได้ถ้ามีศักดินาถึง 400 ไร่ขึ้นไป สิทธิตามกฏหมายของพวกขุนนาง เช่น ได้รับการยกเว้นจากการเกณฑ์แรงงานไปใช้ โดยการยกเว้นนี้ต่อเนื่องไปถึงบุตรของขุนนางด้วย แต่ถ้าผู้ใดเป็นข้าราชการมีศักดินาไม่ถึง 400 ไร่ก็จะได้รับเอกสารยกเว้นการเกณฑ์แรงงานเป็นรายบุคคล แต่เอกสารนี้มิได้คลุมไปถึงลูกของข้าราชการเหล่านั้น สำหรับผู้ที่มีศักดินา 400 ไร่ขึ้นไป จะได้รับสิทธิเข้าเฝ้าในการเสด็จออกขุนนาง และได้รับอนุญาตให้ผู้อื่นขึ้นศาลแทนตนได้ เป็นต้น
4. ไพร่
ฐานันดรไพร่ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นมีสภาพไม่แตกต่างจากสมัยอยุธยา ไพร่ถูกมูลนายเอาชื่อเข้าบัญชีไว้ เพื่อเกณฑ์แรงงานไปใช้ในราชการต่างๆ ด้วยเหตุนี้ไพร่จึงต้องสังกัดอยู่กับเจ้าขุนมูลนายที่ตนสมัครอยู่ด้วยและถ้า เจ้าขุนมูลนายของตนสังกัดอยู่กรมกองใด ไพร่ผู้นั้นก็ต้องสังกัดในกรมกองนั้นตามเจ้านายด้วย
ไพร่อาจแบ่งประเภทตามสังกัดได้เป็น 2 ประเภท คือ ไพร่หลวงและไพร่สม ซึ่งมีลักษณะแตกต่างกัน ดังนี้
ไพร่หลวง หมายถึง ไพร่ที่พระราชทานแก่กรมกองต่างๆ เป็นไพร่ของพระมหากษัตริย์โดยตรง หน้าที่ของไพร่หลวงจึงแตกต่างกันไปตามหน้าที่ที่ระบุไว้ของแต่ละกรมกอง ดังนั้นไพร่หลวง จึงอยู่ในกรม 2 ประเภท คือ ไพร่หลวงที่ต้องมารับราชการตามที่ทางราชการกำหนดไว้ หากมาไม่ได้ต้องให้ผู้อื่นมาแทนหรือส่งเงินแทนการรับราชการ ในสมัยรัชกาลที่ 1 ได้โปรดเกล้าฯให้ไพร่หลวงเปลี่ยนเป็นอยู่เวรรับราชการปีละ 4 เดือน คือ เข้าเวร 1 เดือน ออกเวร 2 เดือน ครั้นถึงสมัยรัชกาลที่ 2 ทรงลดเวลารับราชการของไพร่หลวงลงอีกจาก 4 เดือน เป็น 3 เดือนต่อปี คือเข้าเวร 1 เดือน ออกเวร 3 เดือน ไพร่หลวงที่ต้องเสียเงิน แต่ไม่ต้องมารับราชการ ซึ่งเรียกว่า ไพร่หลวงส่วย ไพร่สม หมายถึง ไพร่ที่พระมหากษัตริย์พระราชทานให้แก่เจ้านายและขุนนางที่มีตำแหน่งทำราชการเพื่อเป็นผลประโยชน์ เนื่องจากในสมัยก่อนนั้นยังไม่มีเงินเดือน การควบคุมไพร่ของมูลนายจึงหมายถึงการได้รับผลประโยชน์ตอบแทน เช่น ได้รับส่วนลดจาการเก็บเงินค่าราชการ หรือได้รับของกำนัลจากไพร่ เป็นต้น ไพร่สมนั้นจะตกเป็นของมูลนายตราบเท่าที่ขุนนางผู้เป็นมูลนายยังมีชีวิตอยู่ ในตำแหน่งราชการ เมื่อมูลนายถึงแก่กรรม ไพร่สมจะถูกโอนมาเป็นไพร่หลวง นอกจากบุตรของขุนนางผู้นั้นจะยื่นคำร้องขอควบคุมไพร่สมต่อจากบิดา
ไพร่สามารถเปลี่ยนแปลงฐานะของตนเองได้ใน 2 กรณี คือ ถ้าทำความดีความชอบอย่างสูงต่อแผ่นดิน อาจได้รับเลื่อนฐานะเป็นขุนนางได้ แต่ถ้ามีความผิดหรือเป็นหนี้สินต่อนายเงิน ก็จะต้องตกเป็นทาสได้เช่นกัน
ในเรื่องความเป็นอยู่ของไพร่นั้น ไพร่หลวงจะมีฐานะลำบากที่สุด ส่วนไพร่ส่วยสบายที่สุด เพราะในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ไพร่หลวงจะถูกเกณฑ์แรงงานเพื่อเข้ารับราชการ ทั้งในยามสงครามและยามสงบปีละ 3 เดือน ส่วนไพร่สมก็มีหน้าที่รับใช้มูลนายเป็นส่วนใหญ่ ไพร่สมจึงทำงานเบากว่าไพร่หลวง
5. ทาส
หมาย ถึง บุคคลที่มิได้มีกรรมสิทธิ์ในแรงงานและชีวิตของตนเอง แต่กลับตกเป็นของนายจนกว่าจะได้รับการไถ่ตัวพ้นจากความเป็นทาส นายมีสิทธิ์ในการซื้อขายทาสได้ ลงโทษทุบตีทาสได้ แต่จะให้ถึงตายไม่ได้ ทาสมีศักดินาเพียง 5 ไร่เท่านั้น
การแบ่งประเภทของทาส ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ทาสคงมีอยู่ 7 ประเภทเช่นเดียวกับสมัยอยุธยา ได้แก่ ทาส ไถ่มาด้วยทรัพย์,ลูกทาสที่เกิดในเรือนเบี้ย,ทาสที่ได้มาข้างฝ่ายบิดามารดา, ทาสมีผู้ให้,ทาสอันได้ช่วยกังวลธุระทุกข์ด้วยคนต้องโทษทัณฑ์,ทาสที่เลี้ยง เอาไว้ในเวลาข้าวยากหมากแพง,และทาสเชลย ทาสเหล่านี้อาจไม่ยอมขอทานเพราะถือว่าเป็นเรื่องน่าอับอาย จึงยอมขายตัวลงเป็นทาส การหลุดพ้นจากความเป็นทาส ทาสมีโอกาสได้รับการปลดปล่อยให้หลุดพ้นจากความเป็นทาส ในกรณีต่อไปนี้ - ถ้านายเงินอนุญาตให้ทาสบวชเป็นพระภิกษุหรือสามเณรหรือนางชี ก็ถือว่าหลุดพ้นจากความเป็นทาส แม้ภายหลังจะลาสิกขาบทแล้ว ก็จะเอาคืนมาเป็นทาสของตนไม่ได้ - ในกรณีนายเงินใช้ทาสไปทำสงครามและทาสถูกจับเป็นเชลย ต่อมาหนีรอดมาได้ก็หลุดพ้นจากความเป็นทาส ถ้าทาสฟ้องนายว่าเป็นกบฏและสวบสวนได้ว่าเป็นจริง ให้ทาสนั้นพ้นจากความเป็นทาสได้ - นายเงิน พ่อของนายเงิน หรือพี่น้องลูกหลานของนายเงิน ได้ทาสเป็นภรรยา ให้ทาสนั้นเป็นไท และลูกที่เกิดมานั้นเป็นไทด้วย ถ้าทาสนั้นตายด้วยการทำธุรกิจใดๆ ให้แก่นายเงิน นายเงินจะเรียกเอาเงินคืนจากผู้ขายไม่ได้ แต่ถ้าตายด้วยเหตุอื่นนายเงินจะเรียกเอาเงินคืนจากผู้ขายได้บ้าง เป็นอิสระด้วยการไถ่ตัว อาจจะเป็นผู้ขอไถ่ตัวเอง หรือมีบุคคลใดก็ได้มาไถ่ให้เป็นอิสระ ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ภายหลังจากการสร้างกรุงรัตนโกสินทร์แล้ว ทาสจะเพิ่มจำนวนมากขึ้น จนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พวกทาสได้เพิ่มจำนวนมาก และคาดว่าผู้ที่เป็นทาสนั้นมีจำนวนถึง 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด ส่วนใหญ่ยอมเป็นทาสเพราะปัญหาซึ่งมีหนี้สินเป็นจำนวนมากที่สุด ทั้งนี้เพราะพวกชาวบ้านเป็นจำนวนมากที่ต้องเป็นหนี้สินเนื่องจากเก็บเกี่ยว ไม่ได้ผล แต่ก็มีอีกเป็นจำนวนมากที่ยอมขายตัวเพื่อจะได้ไม่ต้องถูกเกณฑ์ไปทำงาน
นอกจากนี้สถาบันสงฆ์ถือเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของสังคมไทย ซึ่งพระมหากษัตริย์ ขุนนาง ไพร่ ทาส อาจเปลี่ยนสถานภาพจากฆราวาสมาเป็นพระภิกษุในสถาบันสงฆ์ได้ และผู้เป็นพระสงฆ์จะได้รับการยกเว้นไม่ต้องเกณฑ์แรงงาน
พระสงฆ์จะเป็นผู้ได้รับความเคารพนับถือจาก คนไทยทุกระดับชั้น ตั้งแต่พระมหากษัตริย์ลงมาจนถึงไพร่และทาส แต่ในบางครั้งเมื่อสถาบันพระสงฆ์เสื่อมโทรมด้วยข้อวัตรปฏิบัติ พระมหากษัตริย์จะทรงเอาเป็นพระธุระเพื่อปรับปรุงแก้ไข และทำการปฏิรูปคณะสงฆ์ให้เป็นระเบียบเรียบร้อยยิ่งขึ้น ดังเช่น ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ทรงออกกฏหมายพระสงฆ์เพื่อควบคุมให้พระสงฆ์มีความบริสุทธิ์ เป็นต้น
สำหรับคนต่างด้าวที่เข้ามาพำนักอาศัยอยู่ใน ราชอาณาจักรมีอยู่ด้วยกันหลายพวก เป็นต้นว่า มอญ ลาว กัมพูชา เวียดนาม และจีน บางพวกก็หนีร้อนมาพึ่งเย็น บางพวกก็ถูกกวาดต้อนมาเป็นเชลย ไม่ได้มีโอกาสกลับบ้านเมืองของตนเอง แต่ในบรรดาคนต่างด้าวที่เข้ามาพำนักอยู่ในราชอาณาจักรและมีผลกระทบอย่าง สำคัญต่อสังคมและเศรษฐกิจของไทยในสมัยนี้คือพวกคนจีน

พัฒนาการด้านศิลปวัฒนธรรม
ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น นับว่าเป็นการสืบสานวัฒนธรรมไทยเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาให้กลับมาเจริญ รุ่งเรืองขึ้นใหม่ นอกจากนี้ก็มีการปรับปรุงเพิ่มเติมสิ่งใหม่ๆ ให้วัฒนธรรมไทยในยุคนี้ด้วย นับได้ว่าเป็นการธำรงรักษาไว้ซึ่งวัฒนธรรมไทยที่มีมาแต่อยุธยาให้กลับเจริญ รุ่งเรือง หลังจากประสบกับวิกฤตการณ์สงครามสู้รบระหว่างไทยกับพม่ามาแล้ว
สภาพทางสังคมของไทยตั้งแต่อดีต ได้ผูกพันกับพระพุทธศาสนามาโดยตลอด ความเจริญรุ่งเรืองทางวัฒนธรรมจึงมีส่วนสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับความเจริญ รุ่งเรืองทางศาสนาด้วย ศิลปกรรมและวรรณกรรมต่างๆ ที่บรรจงสร้างด้วยความประณีตก็เกิดจากแรงศรัทธาทางศาสนาทั้งสิ้น
1.การทำนุบำรุงทางด้านพระพุทธศาสนา
ในสมัยรัชกาลที่ 1 (พ.ศ.2325-2352) พระองค์ทรงโปรดเกล้าฯให้ทำการสังคายนาพระไตรปิฏกที่วัดมหาธาตุยุวราชรัง สฤษดิ์ ใน พ.ศ.2331 โดยใช้เวลาประชุมกันประมาณ 5 เดือน ในสมัยรัชกาลที่ 2 (พ.ศ.2352-2367) พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้จัดงานพระราชกุศลอย่างใหญ่โตในวันวิสาขบูชา เหมือนดังที่เคยทำกันในสมัยอยุธยา คือ ทำบุญกันทั่วไปเป็นเวลา 3 วัน สัตว์ที่เคยถูกฆ่าเป็นอาหารนั้นโปรดให้ปล่อยให้หมดภายใน 3 วัน มิให้มีการฆ่าสัตว์โดยเด็ดขาด ในสมัยรัชกาลที่ 3 (พ.ศ.2367-2394) พระองค์ทรงมีพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างมาก พระองค์ทรงทำนุบำรุงคณะสงฆ์ ตลอดจนทรงสร้างและปฏิสังขรณ์พระพุทธรูปและวัดวาอารามมากมาย ในสมัยนี้ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกและนิกายโปรเตสแตนต์ได้มีโอกาสเผยแผ่ ในประเทศไทยโดยพวกมิชชันนารี ทำให้คนไทยบางส่วนหันไปนับถือศาสนาคริสต์ ขณะเดียวกันในวงการพระพุทธศาสนาของไทยก็มีการเคลื่อนไหวที่จะปฏิรูปข้อ วัตรปฏิบัติของคณะสงฆ์ไทยให้สอดคล้องกับคำสอนในพระไตรปิฏก โดยเจ้าฟ้ามงกุฏ ซึ่งทรงผนวชมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 2 และได้เสด็จมาเป็นเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร (พ.ศ.2370-2394) ทรงเป็นผู้มีบทบาทอย่างสำคัญในการปฏิรูปครั้งนั้น จนกระทั่งได้ทรงตั้งนิกายใหม่ เรียกว่า "ธรรมยุติกนิกาย"
2. การทำนุบำรุงศิลปกรรม
การทำนุบำรุงด้านศิลปกรรมในสมัยรัชกาลที่ 1 ในบรรดาศิลปกรรมของไทยซึ่งรัชกาลที่ 1 ทรงให้ความสนพระทัยมากนั้น ได้แก่ บรรดาตึกรามต่างๆ ที่สร้างขึ้น ล้วนมีการตกแต่งลวดลายอย่างงดงามทั้งภายในและภายนอก ทั้งโดยปูนและโดยไม้แกะสลัก ตึกที่ทรงให้จัดสร้างขึ้นส่วนมากเป็นวัด เช่น วัดพระศรีรัตนศาสดาราม วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เป็นต้น นอกจากนี้ก็มีพระที่นั่งต่างๆ เช่น พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย, พระที่นั่งไพศาลทักษิณ, พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน, พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เป็นต้น รัชกาลที่ 1 ทรงสนพระทัยทางด้านวรรณคดี ดังนั้นในสมัยนี้จึงมีบทวรรณคดีที่สำคัญหลายเรื่อง เช่น รามเกียรติ์ นอกจากนี้ก็มีการแปลวรรณกรรมต่างชาติมาเป็นภาษาไทย เช่น หนังสือสามก๊ก ,ราชาธิราช เป็นต้น
การทำนุบำรุงด้านศิลปกรรมในสมัยรัชกาลที่ 2 ทรงสนพระทัยในเรื่องการก่อสร้างและตกแต่งตึกรามต่างๆ พระองค์โปรดเกล้าฯให้สร้าง "สวนขวา" ขึ้นในพระบรมมหาราชวัง ทรงริเริ่มสร้างพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม (แต่สร้างสำเร็จเรียบร้อยในสมัยรัชกาลที่ 3) พระปรางค์จะตกแต่งด้วยถ้วยและชามจีนซึ่งทุบให้แตกบ้าง แล้วติดกับฝาทำเป็นลวดลายรูปต่าง ๆ เช่น ดอกไม้ พระองค์ทรงมีพระปรีชาสามารถทางด้านการแกะสลัก ดังจะเห็นได้จากประตูวัดพระเชตพนวิมลมังคลาราม ประตูวัดสุทัศน์เทพวราราม เป็นต้น รัชกาลที่ 2 โปรดการฟ้อนรำอย่างโบราณของไทยเป็นอันมาก ทั้งโขนและละคร ทรงปรับปรุงจังหวะและท่ารำต่างๆ โดยพระองค์เอง พระองค์โปรดให้มีพระราชนิพนธ์บทละครขึ้นใหม่ ทั้งที่เป็นเรื่องเดิมและเรื่องใหม่ หรือเอาเรื่องเดิมมาแต่งขึ้นใหม่ บทพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 2 มีทั้งหมด 7 เรื่อง เรื่อง"อิเหนา" เป็นเรื่องที่พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์เองตลอดทั้งเรื่อง ส่วนอีก 6 เรื่อง โปรดเกล้าฯ ให้กวีท่านอื่นๆ ร่วมงานด้วย
การทำนุบำรุงด้านศิลปกรรมในสมัยรัชกาลที่ 3 การผลิตงานทางด้านศิลปะในสมัยรัชกาลที่ 3 จัดว่ามีลักษณะเยี่ยมยอดในวงการศิลปะของไทยไม่แพ้ในสมัยอื่น ในสมัยรัชกาลที่ 3 ทรงมุ่งซ่อมแซมและปรับปรุงปราสาทมากกว่าจะสร้างใหม่ โดยระมัดระวังรักษาแบบดั้งเดิมเอาไว้ พระองค์ทรงปฏิสังขรณ์และขยายเขตวัดวาอารามมากมาย ทรงสร้างวัดด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ขึ้น 5 วัด ให้เชื้อพระวงศ์และขุนนางสร้างอีก 6 วัด วัดสำคัญที่สร้างในสมัยนี้ได้แก่ วัดเทพธิดาราม,วัดราชนัดดา,วัดเฉลิมพระเกียรติ์,วัดบวรนิเวศวรวิหาร,วัดบวร สถาน,วัดประยูรวงศ์,วัดกัลยาณมิตร เป็นต้น สิ่งก่อสร้างมากมายที่เป็นตัวอย่างของสถาปัตยกรรมทางศาสนาของไทย เช่น โบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญ พระสถูป พระมลฑป หอระฆัง เป็นต้น โบสถ์และวิหารที่สร้างขึ้นมีลักษณะคล้ายคลึงกัน คือ เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีหลังคาลาดเป็นชั้น มุงกระเบี้องสี ผนังก่ออิฐถือปูนประดับลวดลาย และมีเสาใหญ่รายรอบรับชายคา โบสถ์ขนาดใหญ่และสวยงามที่สร้างในรัชกาลนี้คือ โบสถ์วัดสุทัศน์เทพวราราม ซึ่งสร้างแบบสามัญ ส่วนโบสถ์วัดบวรนิเวศวรวิหารสร้างเป็นแบบมีมุขยื่นออกมาทั้งสองข้างทางด้าน ปลาย สถาปัตยกรรมแบบไทยอย่างอื่นๆ ที่มีความสำคัญรองลงมา คือ พระมณฑป ศาลา หอระฆัง และระเบียงโบสถ์ สิ่งก่อสร้างเหล่านี้มีอยู่สิ่งหนึ่งที่ก่อสร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 และเป็นงานที่ดีที่สุด คือ ระเบียงรอบพระวิหารที่วัดสุทัศน์เทพวราราม ซึ่งมีหน้าบันแกะสลักไว้อย่างงดงาม
ผลงานทางสถาปัตยกรรมอีกอย่างหนึ่งที่ได้ก่อสร้างไว้ บริเวณวัด และจัดอยู่ในจำพวกสิ่งก่อสร้างปลีกย่อยคือ เรือสำเภาซึ่งก่อด้วยอิฐ รัชกาลที่ 3 ทรงมีรับสั่งให้สร้างขึ้นเพื่อว่าในอนาคตเมื่อไม่มีการสร้างเรือสำเภากันอีก แล้ว ประชาชนจะได้แลเห็นว่าเรือสำเภานั้นมีรูปร่างลักษณะเป็นอย่างไร วัดที่พระองค์ทรงรับสั่งให้สร้างสิ่งอันเป็นประวัติศาสตร์นี้ คือ "วัดยานนาวา"
ในสมัยรัชกาลที่ 3 ภาพเขียนแบบไทยต่างๆ ส่วนมากไม่โดดเด่น ที่เขียนขี้นมาส่วนใหญ่เพื่อความมุ่งหมายในการประดับให้สวยงามเท่านั้น ส่วนงานช่างแกะสลักในสมัยรัชกาลที่ 3 ก็เกี่ยวข้องกับเรื่องราวทางพระพุทธศาสนามากกว่างานช่างในสาขาจิตรกรรม โดยเฉพาะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นเครื่องบันดาลใจอันสำคัญยิ่งที่ก่อให้เกิดผลงานทางด้านศิลปะประเภทนี้
ทางด้านวรรณกรรม รัชกาลที่ 3 ทรงสนับสนุนวรรณคดีทางศาสนาและประวัติศาสตร์ ดังเช่น หนังสือเรื่อง "มลินทปัญญา" เป็นต้น แต่ในสมัยนี้ไม่สนับสนุนให้มีการแสดงละครภายในพระบรมมหาราชวัง ทั้งยังไม่โปรดปรานนักแสดงหรือนักประพันธ์คนใดเลย
กล่าวโดยสรุป ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น การทำนุบำรุงและฟื้นฟูทางด้านศิลปวัฒนธรรมได้ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่รัชกาลที่ 1 จนถึงรัชกาลที่ 3 และการทำนุบำรุงก็กระทำโดยวิธีรักษารูปแบบเดิมไว้ตั้งแต่สมัยอยุธยา แต่ในขณะเดียวกันก็เพิ่มเติมสิ่งใหม่ๆ ผสมผสานเข้าไปด้วย ทำให้ศิลปวัฒนธรรมของไทยในยุคนี้เจริญรุ่งเรืองมาก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น